ผู้แต่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวบรวมขึ้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวบรวมขึ้น
ที่มาของเรื่อง
ศัพท์ภาษาไทยว่า “แพทย์” มาจากศัพท์สันสกฤต “ไวทย” แปลว่า ผู้รู้พระเวท หมายถึงผู้รู้วิชาการต่างๆ ที่ประมวลอยู่ในคัมภีร์พระเวทและผู้รู้วิชาการรักษาโรคเป็นที่นับถือยกย่องและมีบทบาทมากในสังคม ต่อมาคำว่า “ไวทย” จึงมีความหมายเจาะจงหมายถึงผู้รู้วิชาการรักษาโรค
ตำราแพทย์ของไทยที่มีมาแต่โบราณ มีร่องรอยของอิทธิพลความเชื่อ และหลักปฏิบัติต่างๆ ที่ปรากฏในตำราแพทย์ของอินเดีย เรียกว่า คัมภีร์ฉันทศาสตร์
“ฉันทศาสตร์” เป็นชื่อตำราฉบับหนึ่งเช่นเดียวกับตำราอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว พิจารณาจากบทไหว้ครูและเนื้อหาที่สอนจรรยาแพทย์ และข้อควรปฏิบัติสำหรับแพทย์ นับว่าเป็นตำราฉบับแรก ในหนังสือชุดแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมขึ้น เนื่องจากทรงเห็นว่าการแพทย์แผนโบราณและตำรายาพื้นบ้านของไทย เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่ง น่าจะรวบรวมไว้เป็นหลักฐานแลเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
จึงโปรดฯ ให้ประชุมคณะแพทย์หลวง เพื่อสืบค้นและรวบรวมตำราแพทย์จากที่ต่างๆ มาตรวจสอบชำระให้ตรงกับฉบับดั้งเดิม แล้วส่งมอบให้กรมพระอาลักษณ์เขียนลงสมุดไทยด้วยอักษรไทย เส้นหรดาล (สีเหลือง) และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบมา
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนราชแพทยาลัยขึ้น ก็ได้โปรดฯ ให้จัดพิมพ์ตำราแพทย์หลวงสำหรับโรงเรียนใช้ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” โดยแบ่งพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ แต่พิมพ์ได้ ๓ เล่ม ก็ต้องเลิกเพราะขาดทุนรอนในการจัดพิมพ์
ต่อมาผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชแพทยาลัยได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนเวชสโมสรขึ้น และก็ได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์ขึ้นอีกเป็นวารสารรายเดือน โดยใช้ชื่อว่า “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” เนื้อหาของตำราชุดนี้เป็นวิธีการรักษาตามตำราแพทย์แผนฝรั่ง ส่วนที่หายาฝรั่งไม่ได้ก็จะใช้ยาไทยแทน แต่ก็ออกมาได้ ๔ ฉบับ ก็ต้องเลิกไปเพราปัญหาเรื่องทุนอีกเช่นกัน
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นฉบับสมบูรณ์เมื่อพระยาพิศณุประสาทเวช(คง ถาวรเวช) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยของราชแพทยาลัยและผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสรได้ริเริ่มจัดพิมพ์ด้วยจุดประสงค์ ๓ ประการ
๑. ราษฎรที่ป่วยไข้ต้องหาวิธีรักษาตนเองจึงควรจะมีการรวบรวมตำราที่กระจัดกระจายกันอยู่นั้นให้เป็นเล่มเดียว ราษฎรจะได้คัดลอกไว้เป็นคู่มือได้
๒. ตำราหลวงก็จะใช้กันในเฉพาะแพทย์หลวง ราษฎรสามัญไม่มีสิทธิ์ใช้
๓. ต้องการจะอนุรักษ์ตำราแพทย์แผนไทยไว้ให้คนรุ่นหลัง
ดังนั้น ท่านจึงได้กราบทูลขอประทานอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อจัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ๒ เล่มจบขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ และยังได้จัดพิมพ์ฉบับย่อให้เป็นคู่มือราษฎรสามัญใช้ได้ทั่วไป ชื่อว่า “เวชศึกษา” หรือ “แพทย์ศาสตร์สังเขป”
โดยแบ่งเป็นเรื่องต่างๆ เรียกว่า “คัมภีร์” ทั้งหมด ๑๔ คัมภีร์ ดังนี้
๑. คัมภีร์ฉันทศาสตร์ เป็นบทสังเคราะห์เนื้อหาสาระจากคัมภีร์อื่นๆ มารวมไว้
๒. คัมภีร์ปฐมจินดาร์ ว่าด้วยครรภรักษา การคลอด โรคเด็ก วิธีรักษาและยาต่างๆ
๓. คัมภีร์ธาตุวิภังค์ ว่าด้วยลักษณะธาตุพิการ (ธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ)
๔. คัมภีร์สรรพคุณ ว่าด้วยสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่างๆ
๕. คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ว่าด้วยความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการรักษาสุขภาพ
๖. คัมภีร์วรโยคสาร ว่าด้วยคุณลักษณะของแพทย์ ลักษณะของผู้ป่วย การรักษาโรค คุณค่าของยาและอาหาร
๗. คัมภีร์มหาโชตรัต ว่าด้วยโรคของสตรี และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๘. คัมภีร์ชวดาร ว่าด้วยโรคลมและโรคเลือด และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๙. คัมภีร์โรคนิทาน ว่าด้วยสาเหตุของโรค และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๑๐. คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ว่าด้วยลักษณะธาตุพิการ และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๑๑. คัมภีร์ธาตุบรรจบ ว่าด้วยเรื่องอุจจาระที่เป็นสาเหตุของโรค และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๑๒. คัมภีร์มุจฉาปักขันธิกา ว่าด้วยโรคของบุรุษ และโรคสตรี และสมุนไพรที่ใช้รักษา
๑๓. คัมภีร์ตักกะศิลา ว่าด้วยอาการของโรคระบาดชนิดต่างๆ
๑๔. คัมภีร์ไกษย ว่าด้วยโรคกษัยชนิดต่างๆ และสมุนไพรที่ใช้รักษา
ลักษณะคำประพันธ์
รูปแบบคำประพันธ์ที่เป็นบทเรียนแต่งเป็น กาพย์ยานี ๑๑
เนื้อเรื่องย่อ
เนื้อเรื่องในตอนที่นำมาเป็นบทเรียน กล่าวถึงความสำคัญของแพทย์ มีการเปรียบเทียบแพทย์เป็นทหาร ข้าศึกเป็นโรคภัย และร่างกายเปรียบเหมือนนคร แพทย์ควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางวิชาการ และให้ระมัดระวังอย่าทำตนเป็นแพทย์ที่ ไม่ดี ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ที่บกพร่อง ควรหลีกเลี่ยง เช่น มุสา และชี้ให้เห็นว่าแพทย์นั้นควรประพฤติอย่างไร โดยยึดหลักตามพระพุทธศาสนา ให้รักษาศีล ๕ และศีล ๘ ยึดไตรรัตน์เป็นที่พึ่ง ไม่ทำชั่ว เช่น ไม่มีความโลภ มีมารยาท ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่คิดเบียดเบียน ไม่ง่วงเหงา
ถอดความคำประพันธ์
บทประพันธ์
อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย
ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา
ถอดคำประพันธ์
อีกอย่างจะสอนว่า “กายนคร” มีอยู่มากเปรียบได้กับในร่างกายของหญิงชายทุกคนในโลก
บทประพันธ์
ดวงจิตคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์
ข้าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา
ถอดคำประพันธ์
จิตใจเปรียบได้กับกษัตริย์ผู้ครอบครองสมบัติอันยิ่งใหญ่(ร่างกาย)ข้าศึกเปรียบได้กับโรคที่เกิดมาทำลายภายในร่างกายเรา
บทประพันธ์
เปรียบแพทย์คือทหาร อันชำนาญรู้ลำเนา
ข้าศึกมาอย่าใจเบา ห้อมล้อมรอบทุกทิศา
ถอดคำประพันธ์
แพทย์เปรียบได้กับทหาร ที่มีความชำนาญรู้เรื่องที่อยู่(ร่างกาย)โรคเกิดให้คิดดีๆ ตรวจ หยุด การแผ่ลามไว้ทุกแห่ง
บทประพันธ์
ให้ดำรงกระษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา
อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย
ถอดคำประพันธ์
ให้รักษากษัตริย์ไว้คือหัวใจรีบให้ยาอีกอย่างห้ามแพทย์มีความไม่พอใจอย่างรุนแรง โรคเกิดขึ้นอาจทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย
บทประพันธ์
ปิตตํ คือ วังหน้า เร่งรักษาเขม้นหมาย
อาหารอยู่ในกาย คือเสบียงเลี้ยงโยธา
ถอดคำประพันธ์
น้ำดีในตับมีหน้าที่ย่อยอาหารเปรียบเหมือนวังหน้า รีบตั้งใจรักษาให้ดีเพราะอาหารที่อยู่ในร่างกายเปรียบเหมือนเสบียงเลี้ยงกองทหาร (เลือด, เซลล์ ฯลฯ)
บทประพันธ์
หนทางทั้งสามแห่ง เร่งจัดแจงอยู่รักษา
ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา ปิดทางได้จะเสียที
ถอดคำประพันธ์
ทางทั้งสาม หัวใจ,น้ำดี,อาหาร รีบจัดเตรียมรักษาอย่าให้เชื้อโรคเข้ามาทำให้ทำงานไม่สะดวกจะพลาดโอกาสรักษา
บทประพันธ์
อนึ่งเล่ามีคำโจทก์ กล่าวยกโทษแพทย์อันมี
ปรีชารู้คัมภีร์ เหตุฉันใดแก้มิฟัง
ถอดคำประพันธ์
อีกอย่างมีค่ากล่าวหาแพทย์ที่มีความสามารถจากการเรียนรู้ ทำไมพูดแก้ความเข้าใจผิดก็ไม่ฟังกัน
บทประพันธ์
คำเฉลยแก้ปุจฉา รู้รักษาก็จริงจัง
ด้วยโรคเหลือกำลัง จึ่งมิฟังในการยา
ถอดคำประพันธ์
ถามมาก็ตอบว่ารู้เรื่องการรักษาได้เป็นเรื่องจริงเพราะว่าโรคร้ายแรงเกินความสามารถจึงดื้อยารักษาไม่หาย
บทประพันธ์
เมื่ออ่อนรักษาได้ แก่แล้วไซร้ยากหนักหนา
ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไหม้ลุกลาม
ถอดคำประพันธ์
เมื่อเป็นน้อยรักษาหายได้ เป็นมาก รักษาหายยากมากไข้ที่หนักแล้วนั้น เปรียบเหมือนไฟป่าที่ลุกลามได้รวดเร็วและกว้าง
บทประพันธ์
เป็นแพทย์พึงสำคัญ โอกาสนั้นมีอยู่สาม
เคราะห์ร้ายขัดโชคนาม บางทีรู้เกินรู้ไป
ถอดคำประพันธ์
เป็นแพทย์ควรกำหนดจดจำว่า โอกาสที่ได้รักษาคนไข้มีอยู่ ๓ อย่าง ที่ทำให้ไม่ดีเสียชื่อเสียง ๑.บางทีรู้วิธีรักษาแต่มีสิ่งนำผลร้ายมาทำให้โรคที่เกิดเกินความรู้โรคที่มี
บทประพันธ์
บางทีรู้มิทัน ด้วยโรคนั้นใช่วิสัย
ตน บ รู้ทิฏฐิใจ ถือว่ารู้ขืนกระทำ
ถอดคำประพันธ์
๒.บางทีโรคนั้นไม่เคยรู้ เพราะโรคนั้นตนไม่มีความสามารถรักษา ๓. ไม่รู้แต่อวดว่าตนรู้ฝืนรักษาไข้ไป
บทประพันธ์
จบเรื่องที่ตนรู้ โรคนั้นสู้ว่าแรงกรรม
ไม่สิ้นสงสัยทำ สุดมือม้วยน่าเสียดาย
ถอดคำประพันธ์
เรื่องที่ควรรู้ได้เสนอไปแล้ว บางโรครักษาไม่หายก็อ้างว่าเป็นเพราะกรรม ทำให้รักษาไม่หายคนไข้ตายก็รู้สึกเสียใจ
บทประพันธ์
บางทีก็มีชัย แต่ยาให้โรคนั้นหาย
ท่านกล่าวอภิปราย ว่าชอบโรคนั้นเป็นดี
ถอดคำประพันธ์
บางทีก็โรคหาย แต่โรคหายเพราะยาก็พูดกล่าวอ้างว่า รู้จักรักษาโรคนั้นเป็นอย่างดี
บทประพันธ์
ผู้ใดจะเรียนรู้ พิเคราะห์ดูผู้อาจารย์
เที่ยงแท้ว่าพิสดาร ทั้งพุทธไสยจึ่งควรเรียน
ถอดคำประพันธ์
คนใดต้องการจะเรียนรู้ ต้องพิจารณาคนที่เป็นครูว่ามีความรู้จริง รู้ละเอียด จึงสมควรจะไปเรียนด้วย
บทประพันธ์
แต่สักเป็นแพทย์ได้ คัมภีร์ไสยไม่จำเนียร
ครูนั้นไม่ควรเรียน จะนำตนให้หลงทาง
ถอดคำประพันธ์
เพียงแต่เป็นแพทย์ได้ ตำราความรู้ทางคาถาเวทมนตร์ไม่รู้ ครูคนนั้นไม่ควรเรียนด้วย จะนำให้ผู้เรียนเข้าใจผิดพลาดได้
บทประพันธ์
เราแจ้งคัมภีร์ฉัน ทศาสตร์อันบุราณปาง
ก่อนกล่าวไว้เป็นทาง นิพพานสุศิวาไลย
ถอดคำประพันธ์
เราทราบว่าตำราฉันทศาสตร์เป็นตำราแต่งมานานบอกไว้เป็นแนวทางไปสู่นิพพาน ไปสู่แดนสบาย
บทประพันธ์
อย่าหมิ่นว่ารู้ง่าย ตำรับรายอยู่ถมไป
รีบด่วนประมาทใจ ดังนั้นแท้มิเป็นการ
ถอดคำประพันธ์
อย่าดูหมิ่นว่าเรียนรู้ได้ง่าย ตำรามีวางเรียงอยู่มากมาย รีบคิดอย่างนี้เป็นคนประมาท จริงๆ แล้วไม่มีความสามารถอะไร
บทประพันธ์
ลอกได้แต่ตำรา เที่ยวรักษาโดยโวหาร
อวดรู้ว่าชำนาญ จะแก้ไขให้พลันหาย
ถอดคำประพันธ์
คัดลอกได้แต่ตัวหนังสือ ออกไปรักษาโดยจำแต่ตำราไปพูดแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีความรู้ ความชำนาญ จะรักษาโรคให้หายได้ทันที
บทประพันธ์
โรคคือครุกรรม บรรจบจำอย่าพึงทาย
กล่าวเล่ห์อุบายหมาย ด้วยโลภหลงในลาภา
ถอดคำประพันธ์
อย่าพูดจากการคาดคะเนว่าโรคที่เป็นคือกรรมหนักที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันพูดหลอกลวงเพราะความต้องการสิ่งของ
บทประพันธ์
บ้างจำแต่เพศไข้ สิ่งเดียวได้สังเกตมา
กองเลือดว่าเสมหา กองวาตาว่ากำเดา
ถอดคำประพันธ์
หมอบางคนจำอาการไข้ที่แสดงให้เห็นเพียงอย่างเดียวที่ได้สังเกตมากองเลือดบอกว่าเป็นเสมหะ ลมที่ออกมามากบอกว่าเป็นความร้อนในตัว
บทประพันธ์
คัมภีร์กล่าวไว้หมด ไยมิจดมิจำเอา
ทายโรคแต่โดยเดา ให้เชื่อถือในอาตมา
ถอดคำประพันธ์
ตำราบอกไว้ทุกเรื่อง ทำไมไม่จดไม่จำเอาไว้ บอกว่าเป็นโรคอะไรจากการคิดเอาเองไม่มีเหตุผล ให้คนนับถือตนเอง
บทประพันธ์
รู้น้อยอย่าบังอาจ หมิ่นประมาทในโรคา
แรงโรคว่าแรงยา มิควรถือว่าแรงกรรม
ถอดคำประพันธ์
รู้น้อยอย่ากล้าทำเพราะหลงตัวเอง ขาดความรอบคอบเกี่ยวกับโรคความรุนแรงของโรคต้องใช้ยาที่ดี ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องกรรมหนัก
บทประพันธ์
อนึ่งท่านได้กล่าวถาม อย่ากล่าวความบังอาจอำ
เภอใจว่าตนจำ เพศไข้นี้อันเคยยา
ถอดคำประพันธ์
อีกอย่างคนไข้พูดถาม อย่าพูดข้อความเพราะหลงตัวเองไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พูดว่าตนจำไข้ลักษณะนี้ได้เพราะเคยให้ยา
บทประพันธ์
ใช่โรคสิ่งเดียวดาย จะพลันหายในโรคา
ต่างเนื้อก็ต่างยา จะชอบโรคอันแปรปรวน
ถอดคำประพันธ์
ไม่ใช่โรคจะมีชนิดเดียวที่จะทำให้หายจากโรคทันที ลักษณะประจำตัวต่างกันก็ให้ยาต่างกันจึงจะถูกกับโรคที่เปลี่ยนไปจากลักษณะเดิม
บทประพันธ์
บางทีก็ยาชอบ แต่เคราะห์ครอบจึ่งหันหวน
หายคลายแล้วทบทวน จะโทษยาก็ผิดที
ถอดคำประพันธ์
บางทีก็ให้ยาถูกกับโรค แต่มีสิ่งร้ายเกิดขึ้น โรคจึงเป็นขึ้นอีก หายทุเลาลงไปแล้วเกิดเป็นกลับขึ้นใหม่ จะว่ายาไม่ดีก็ไม่ถูกต้อง
บทประพันธ์
อวดยาครั้นให้ยา เห็นโรคาไม่ถอยหนี
กลับกล่าวว่าแรงผี ที่แท้ทำไม่รู้ทำ
ถอดคำประพันธ์
แสดงสรรพคุณยาเมื่อให้ยานั้นรักษา โรคยังไม่หาย กลับพูดว่าผีร้ายแรงกว่า จริงๆ แล้วทำไปเพราะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร
บทประพันธ์
เห็นลาภจะใคร่ได้ นิยมใจไม่เกรงกรรม
รู้น้อยบังอาจทำ โรคระยำเพราะแรงยา
ถอดคำประพันธ์
เห็นสิ่งของอยากจะได้ ชอบใจก็ไม่เกรงกลัวทำความชั่ว รู้น้อยแต่กล้าทำเพราะหลงตัว โรคหนักขึ้นเพราะผลของยา
บทประพันธ์
โรคนั้นคือโทโส จะภิยโยเร่งวัฒนา
แพทย์เร่งกระหน่ำยา ก็ยิ่งยับระยำเยิน
ถอดคำประพันธ์
โรคนั้นเปรียบกับความฉุนเฉียว จะเป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์เร่งให้ยาซ้ำเข้าไป ก็ยิ่งร้ายแรงหนักขึ้น
บทประพันธ์
รู้แล้วอย่าอวดรู้ พินิจดูอย่าหมิ่นเมิน
ควรยาหรือยาเกิน กว่าโรคนั้นจึ่งกลับกลาย
ถอดคำประพันธ์
มีความรู้อย่าแสดงความรู้ ควรพิจารณาอย่าประมาท ควรให้ยาแค่ไหนหรือให้ยาแรงกว่า โรคจึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
บทประพันธ์
ถนอมทำแต่พอควร อย่าโดยด่วนเอาพลันหาย
ผิโรคนั้นกลับกลาย จะเสียท่าด้วยผิดที
ถอดคำประพันธ์
ระมัดระวังทำพอควร อย่ารีบร้อนทำให้โรคหายทันที อาการที่ดีอยู่อาจทรุดลงได้หากโรคที่รักษานั้นเป็นโรคอื่น จะพลาดผิดเพราะทำผิดพลาด
บทประพันธ์
บ้างได้แต่ยาผาย บรรจุถ่ายจนถึงดี
เห็นโทษเข้าเป็นตรี จึ่งออกตัวด้วยตกใจ
ถอดคำประพันธ์
บ้างรู้แต่เรื่องยาระบาย ให้ยาไปถ่ายจนถึงขั้นน้ำดีผิดปกติ เห็นคนไข้ใกล้ตาย จึงรีบแก้ตัวเพราะตกใจ
บทประพันธ์
บ้างรู้แต่ยากวาด เที่ยวอวดอาจไม่เกรงภัย
โรคน้อยให้หนักไป ดังก่อกรรมให้ติดกาย
ถอดคำประพันธ์
บ้างมีความรู้เฉพาะยากวาด อวดอ้างความสามารถไปทั่วไม่กลัวอันตราย
โรคไม่หนักทำให้เป็นหนักขึ้นเหมือนก่อให้เกิดผลร้ายติดตัว
เนื้อเรื่องย่อ
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตอนคัมภีร์ฉันทศาสตร์ เปิดเรื่องด้วยบทไหว้ครู ซึ่งมีการไหว้พระรัตนตรัย ไหว้เทพเจ้าของพราหมณ์ ได้แก่ พระอิศวร พระพรหม ไหว้หมอชีวกโกมารภัจและไหว้ครูแพทย์โดยทั่วไป จากนั้นกล่าวถึงคัมภีร์ฉันทศาสตร์ที่ครูเคยสั่งสอน เปรียบเสมือนแสงสว่างแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง รวมถึงสิ่งที่แพทย์ควรมีและสิ่งที่ไม่ควรกระทำ โดยทั่วไปจะมีความประมาท ความอวดดี ความริษยา ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความหลงตัว และความไม่เสมอภาคในการรักษาคนรวยและคนจน
อีกจะกล่าวเปรียบเทียบร่างกายเหมือนกับบ้านเมือง โดยให้ความสำคัญกับดวงจิต ด้วยการเปรียบดวงจิตเป็นกษัตริย์ และเปรียบโรคภัยเป็นข้าศึก เปรียบแพทย์เป็นทหารที่มีความชำนาญ คอยดูแลปกป้องรักษาไม่ให้ร่างกายมีโรคภัย อีกทั้งดวงใจก็พยายามอย่าโกรธเพื่อไม่ให้โรคภัยคุกคามเร็วเกินไป ความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาบำบัดรักษาโรค มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อใดเกิดอาการเจ็บป่วย แพทย์ต้องรักษาโรคให้ทันท่วงที และรักษาให้ถูกโรค เนื่องจากอาการเจ็บป่วยอาจลุกลามจนรักษาไม่หายและควรรอบรู้ในการรักษาทั้งคัมภีร์พุทธไสย์อย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถวินิจฉัยและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นได้
กล่าวถึงอาการของโรคทับ ๘ ประการ ทับ คือ อาการของโรคอย่างหนึ่งซึ่งเกิดแทรกซ้อนโรคหนึ่งที่เป็นอยู่ก่อน ทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นในคัมภีร์ฉันทศาสตร์กล่าวถึงทับ ๘ ประการ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดกับเด็กมีชื่อต่าง ๆ โดยระบุอาการ วิธีการสังเกตอาการและแนวทางการรักษาดังนี้
๑. ทับสองโทษ
อาการ : เด็กท้องขึ้น มือเท้าเย็น อุจจาระเหม็นผิดปกติ อาเจียน ลงท้อง กระหายน้ำ ปวดหัวตัวร้อน
การรักษา : เช้า ยาตรีหอม เที่ยงวัน ยาหอมผักหนอก เย็น ยาประสะนิลน้อย
๒. ทับสำรอก
อาการทับ : มีอาการสี่อย่าง อาเจียนออกมาเป็นสีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง เป็นเสมหะบ้าง เป็นเม็ดมะเขือบ้าง มีเม็ดขึ้นในคอ ทำให้ไอ นอนผวา ไม่กินนม ไม่กินข้าว เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว แลบางคราว ร่างกายเย็นและร้อนเป็น ส่วน ๆ ตามักช้อนขึ้นบน
การรักษา : ในหนังสือไม่ปรากฏ
๓. ทับละออง
อาการ : ทารกมีละอองซางเกิดขึ้นในคอ ไอกำเริบเป็นหมู่ ๆ (ไอถี่ ๆ เป็นชุด ๆ) ท้องเดิน อุจจาระเป็นมูก มีกลิ่นคาวและเปรี้ยวซึมเซา เชื่อมมัว ตัวร้อนจัดดังเปลวไฟ
การรักษา : ในหนังสือไม่ปรากฏ
๔. ทับกำเดา
อาการ : มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ ตัวร้อนดังเปลวไฟ ถอนใจใหญ่ (หายใจแรง) หายใจสั้น ปากคอแห้ง หลับ ๆ หวาดผวาเกิดเม็ดในลำคอ ในอก ไม่กินข้าว ไม่กินนม ท้องขึ้นแข็ง
การรักษา : ให้ยาเย็นและสุขุม
๕. ทับกุมโทษ
อาการ : อุจจาระเป็นมูกเลือด มีสีดำหรือสีแดงสด ปวดเบ่งมากตัวร้อนมากตลอดทั้งตัว เชื่อมมัวทอดไม่สมปฤดี หายใจขัด กระหายน้ำ
การรักษา : เช้า ให้ยาน้ำสมอไทย , ยามเที่ยง ให้ยาหอมผักหนอก
๖. ทับเชื่อมมัว
อาการ : ทารกเป็นไข้กำเดา ซึมเซาเชื่อมมัว ปวดหัว ตัวร้อนจัด ท้องขึ้น หอบไอแห้ง ๆ
ทับมีอาการอุจจาระเป็นมูกเลือด ลงมิได้เป็นเวลา ปวดเบ่งเป็นกำลัง กระหายน้ำ
การรักษา : ในหนังสือไม่ปรากฏ
๗. ทับซาง
อาการ : เป็นไข้ ซางกินปอด ตับอยู่ภายใน ถ่ายออกมาคล้ายน้ำส่าเหล้าบ้าง คล้ายน้ำไข่ เน่าบ้าง มีกลิ่นเหม็นคาว สุดท้ายถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดเบ่ง หิว กระหายน้ำ อาจทำให้มีอาการตับทรุด อาการหนักขึ้น ถ่ายออกมาเป็นเลือดเสลดเน่า ตัวร้อน ท้องขึ้น มือเท้าเย็น หายใจขัด ยากจะรักษา
การรักษา : ในหนังสือไม่ปรากฏ
๘. ทับช้ำใน
อาการ : ขัดยอกในกายเหตุหกล้ม อกและสีข้างกระแทก (ตับได้รับการกระทบกระแทก) ชอกช้ำภายใน (ตับ) อยู่นานมา จับไข้ ตัวร้อนเป็นเวลา หน้าตาไม่มีสี( ซีด ) ให้มีอาการตับทรุด อุจจาระเป็นส่าเหล้าแลไข่เน่าแล้วเป็นมูกเลือด ปวดเบ่ง ตัวร้อนหายใจสะอื้นขัด มือเท้าเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน มีโทษถึงตาย
การรักษา : ในหนังสือไม่ปรากฏ
คุณค่าของเรื่อง
ด้านวิชาการหรือด้านการแพทย์
- ให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์และสมุนไพรไทย
- คุณค่าทางด้านการแพทย์แผนโบราณ
- เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์
- ให้ความรู้ถึงคุณสมบัติของแพทย์
- ทราบถึงความสำคัญของแพทย์
- ทราบถึงคำเตือนสำหรับแพทย์บางประการ
ด้านเนื้อหา
๑. เน้นคุณค่าจรรยาบรรณของแพทย์
๒. ตำราแพทย์แผนโบราณซึ่งรวมตำราแพทย์แผนโบราณฉบับหลวง ทำให้เกิดการประมวลความรู้ด้านการแพทย์ และง่ายต่อการนำมาจัดระบบ
ด้านวรรณศิลป์
๑. ใช้โวหาร อุปมา เช่น
เมื่ออ่อนรักษาได้ แก่แล้วไซร้ยากหนักหนา
ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไม้ลุกลาม
๒. ใช้โวหารอุปลักษณ์ เช่น
ดวงจิตคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์
อนึ่งห้ามโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น